ใกล้จะเริ่มกันแล้วกับศึก ยูโร 2024 โดยนี่จะถือเป็นการแข่งขันครั้งที่ 17 ของรายการนี้ และเป็นครั้งที่ 2 ที่มันจะเตะกันบนผืนแผ่นดินของ เยอรมนี หลังจากตอนปี 1988 พวกเขาเคยเป็นเจ้าภาพภายใต้ชื่อ เยอรมัน ตะวันตก ด้วยความที่เป็นทั้งเจ้าภาพและเป็นหนึ่งในชาติยักษ์ใหญ่ของโลกลูกหนัง
ทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ เยอรมนี จะถูกยกให้เป็นตัวเต็งลำดับต้นๆ ที่จะได้แชมป์ไปครอง โดยที่ผ่านมามี 3 ครั้งที่ชาติเจ้าภาพของศึก ยูโร ได้แชมป์ต่อหน้าแฟนบอลของตัวเอง มาลองย้อนไปดูถึงช่วงเวลาเหล่านั้นกันดีกว่า
– 1964
นั่นคือครั้งที่ 2 ที่มีการจัดศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป โดยสมัยนั้นใช้ระบบที่มีทีมได้เข้าแข่งรอบสุดท้ายแค่ 4 ทีมเท่านั้น ซึ่ง สเปน ได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งครั้งดังกล่าว ส่วนอีก 3 ทีมที่ได้ลงเล่นรอบสุดท้ายคือ เดนมาร์ก, ฮังการี และ สหภาพโซเวียต
สเปน ชุดนั้นมีนักเตะชื่อดังอย่าง หลุยส์ ซูอาเรซ ที่สมัยนั้นค้าแข้งอยู่กับ อินเตอร์ มิลาน เป็นคนนำทัพ
โดยในรอบรองชนะเลิศพวกเขาเหนื่อยพอตัวเมื่อต้องลุ้นจนถึงช่วงต่อเวลาพิเศษก่อนที่จะชนะ ฮังการี ไปได้ 2-1 ขณะที่ในนัดชิงชนะเลิศ “ลา โรฆา” ก็สามารถเอาชนะ สหภาพโซเวียต ไปได้ 2-1 ภายในช่วงเวลา 90 นาที ต่อหน้าแฟนบอลราว 79,000 ชีวิตใน ซานติอาโก้ เบร์นาเบว
ทั้งนี้ กุส เปราด้า คือหนึ่งในคนที่ทำผลงานได้เด่นที่สุดของ สเปน ชุดนั้น หลังเขาทำได้ 2 ประตูจนเป็นหนึ่งใน 3 ดาวซัลโวสูงสุดร่วม โดยหนึ่งในลูกที่เขาทำได้คือนัดชิงดำนั่นเอง ขณะที่ อมันซิโอ้ อมาโร่ ก็เล่นได้น่าประทับใจในระดับหนึ่งเช่นกัน
– 1968
4 ปีหลังจากนั้นศึก ยูโร ไปจัดกันที่ประเทศอิตาลี ทำให้ “อัซซูรี่” ได้ลงเล่นรอบสุดท้ายของศึก ยูโร เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ ส่วนผู้มาเยือน 3 ทีมประกอบด้วย สหภาพโซเวียต, ยูโกสลาเวีย และ อังกฤษ โดยรายหลังสุดนั้นเพิ่งได้สัมผัสกับเกม ยูโร เป็นหนแรกเหมือนกัน
ในรอบรองชนะเลิศ อิตาลี ต้องชนกับ สหภาพโซเวียต ซึ่งเกมก็จบลงด้วยผลเสมอ 0-0 ทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงต่อเวลาพิเศษ และสมัยนั้นยังไม่มีการตัดสินผู้ชนะด้วยการดวลจุดโทษ โดยกฎก็คือหากมีผลเสมอในรอบรองชนะเลิศจะตัดสินผู้ชนะด้วยการ “ทอยเหรียญ” ส่วนถ้าเป็นนัดชิงชนะเลิศจะต้องเตะนัดรีเพลย์กัน และในการทอยเหรียญของรอบตัดเชือกครั้งนั้นโชคชะตาก็อยู่ข้างเจ้าภาพ
ในรอบชิงชนะเลิศ อิตาลี ต้องโคจรมาเจอกับ ยูโกสลาเวีย โดยเตะกันในวันที่ 8 มิถุนายน ท่ามกลางแฟนบอลในสนามราว 68,000 ชีวิต ซึ่งเกมจบลงด้วยสกอร์ 1-1 ในช่วงเวลาปกติ และพอถึงตอนต่อเวลาพิเศษก็ยังไม่มีใครทำประตูเพิ่มได้ ส่งผลให้มันต้องกลับมาเตะนัดรีเพลย์กันในอีก 2 วันให้หลัง และหนนี้ อิตาลี ก็ชนะไป 2-0 เพียงแต่แฟนบอลที่มาดูเกมในสนามเหลือแค่ประมาณ 32,000 คน ส่วนนักเตะ อิตาลี ชุดนั้นที่ทำผลงานได้เด่นๆ มีอย่างเช่น ดิโน่ ซอฟฟ์, จิจี้ ริว่า, ซานโดร มาซโซล่า, อังเจโล่ โดเมนจินี่ และ จาชินโต้ ฟัคเช็ตติ
– 1984
การแข่งครั้งนั้นถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ศึก ยูโร เพิ่มจำนวนทีมในรอบสุดท้ายเป็น 8 ทีม ซึ่งนอกจาก ฝรั่งเศส ที่เป็นเจ้าภาพ อีก 7 ชาติที่มาร่วมชิงชัยบนแผ่นดินแดนน้ำหอมก็ประกบไปด้วย เบลเยียม, โปรตุเกส, เดนมาร์ก, เยอรมัน ตะวันตก, โรมาเนีย, ยูโกสลาเวีย และ สเปน
ในรอบแบ่งกลุ่ม ฝรั่งเศส ต้องเจอกับ เดนมาร์ก, เบลเยียม และ ยูโกสลาเวีย ซึ่งทีมของกุนซือ มิเชล ฮิดัลโก้ ทำผลงานได้สุดยอดจนเก็บชัยได้ทั้ง 3 นัด ไม่ว่าจะเป็นการเฉือน เดนมาร์ก 1-0, ถล่ม เบลเยียม 5-0 และพิชิต ยูโกสลาเวีย 3-2
ฝรั่งเศส ลงเล่นรอบรองชนะเลิศกับ โปรตุเกส ด้วยความฮึกเหิม ก่อนจะชนะไป 3-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ หลังจบ 90 นาทีเสมอกัน 1-1 ส่วนในนัดชิงชนะเลิศที่เจอกับ สเปน พวกเขาก็ยังทำผลงานได้เหนือชั้นจนคว้าชัยไป 2-0
แน่นอนว่านักเตะที่เด่นที่สุดของ ฝรั่งเศส ในชุดนั้นย่อมหนีไม่พ้น มิเชล พลาตินี่ เพราะเขาทำได้ถึง 9 ประตู แถมยังยิงได้ครบทั้ง 5 นัดด้วย ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นการทำแฮตทริกได้ถึง 2 เกมอีกต่างหาก นั่นคือเกมกับ เบลเยียม และ ยูโกสลาเวีย ส่วนอีก 2 คนที่เด่นพอกันคือ ฌอง ติกาน่า กับ อแล็ง ชิเรสเซ่